ยินดีต้อนรับสู่บล็อก การจัดประสบการณ์การศึกษาแบบเรียนรวมสำหรับเด็กปฐมวัย ของพิชากร แก้วน้อย ค่ะ

วันพฤหัสบดีที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2558

บันทึกอนุทินครั้งที่3


บันทึกอนุทินครั้งที่3
วันพุธที่ 28 มกราคม 2558
เวลาเรียน  8.30-12.20 น.
เวลาเข้าเรียน 8.30 เวลาเข้าสอน 8.30  เวลาเลิกเรียน 12.20



ความรู้ที่ได้รับ

     วันนี้ก่อนเริ่มเรียนในเนื้อหาทฤษฎีอาจารย์มีกิจกรรมมาให้ทำ โดยอาจารย์มีรูปดอกกุหลาบมาให้วาดโดยนักศึกษาทุกคนต้องพยายามวาดดอกกุหลาบให้เหมือนต้นฉบับมากที่สุด

                                     
                           ภาพดอกกุหลาบหลากสีที่อาจารย์เตรียมมาให้วาดเป็นแบบ


ดอกกุหลาบของฉันจะเป็นอย่างไรนะ?


ค่อยๆร่าง ค่อยๆวาด เริ่มมีเค้าโครงดอกกุหลาบเรื่อยๆ


ดอกกุหลาบของฉัน ลงสีเรียบร้อย   


    หลังจากวาดรูปเสร็จอาจารย์ให้เขียนบรรยายเกี่ยวกับสิ่งที่เห็นจากดอกกุหลาบดอกนี้ จะเขียนอะไรก็ได้ไม่มีการบังคับ สำหรับฉันได้เขียนบรรยายถึงภาพนี้ว่า
    ดอกกุหลาบดอกนี้เปรียบเสมือนชีวิตของคนเราที่เต็มไปด้วยความรักในแต่ละรูปแบบ ทั้งความรักที่สดใสดั่งเช่นสีแดง ความรักที่อบอุ่นละมุนเหมือนสีชมพู ความรักที่บริสุทธิ์ดั่งสีขาวและในขณะเดียวกันก็มีความรักที่เต็มไปด้วยความเศร้า ความมืดหม่นเปรียบดั่งสีดำซ่อนอยู่ตามกลีบกุหลาบที่บานกระจายออกมาแต่ละกลีบ..
   
      จากข้อความที่บันทึกนี้ใช้การบรรยายในเชิงเปรียบเทียบสีของดอกกุหลาบแทนสิ่งต่างๆตามความคิดและความรู้สึกของผู้บันทึกเอง ซึ่งการเขียนลักษณะนี้เหมือนเป็นการใส่ความรู้สึกจินตนาการของผู้บันทึกเองล้วนๆไม่มีการเขียนบรรยายรายละเอียดตามสิ่งที่เห็นและเป็นจริง ในการเขียนบันทึกดอกไม่ในลักษณะนี้ก็ไม่ถือว่าผิด  แต่สำหรับการเขียนบันทึกพฤติกรรมของเด็กนั้นถ้าเขียนบรรยายแบบนี้ถือว่าผิดไม่สมควรบันทึก เพราะถ้าผู้บันทึกบันทึกพฤติกรรมของเด็กตามอารมณ์ความรู้สึกของตนเองโดยที่ไม่บันทึกตามความเป็นจริงจากรายละเอียดตามสิ่งที่เห็น ก็จะทำให้ได้ข้อมูลที่ไม่ตรงกับความเป็นจริงได้..  


เนื้อหาทฤษฎีที่อาจารย์สอนในวันนี้เกี่ยวกับเรื่องของ บทบาทครูปฐมวัยในห้องเรียน

บทบาทครูปฐมวัยในห้องเรียน
    ครูไม่ควรวินิจฉัยหรือตัดสินใจว่าเด็กเป็นอะไรโดยดูจากอาการหรือสัญญาณบางอย่างจากอาการที่แสดงออกมาเพราะอาจนำไปสู่ความเข้าใจที่ผิดได้ แต่ครูสามารถสันนิฐานได้ว่าเด็กอาจจะเป็นอะไรได้
    ครูไม่ควรตั้งชื่อ(ฉายา)หรือระบุประเภทของเด็ก เป็นผลเสียต่อเด็กทำให้เด็กคิดมากเกี่ยวกับตนเอง เด็กเปรียบเทียบตนเองกับเพื่อนเช่นเมื่อเด็กมีฉายาของตนเองแต่เพื่อนไม่มีเด็กจะรู้สึกว่าตนเองเองนั้นแปลกกว่าเพื่อนยิ่งนานไปเด็กอาจจะคิดว่าตนเองเป็นอย่างที่คนอื่นเรียกจริงๆกลายเป็นว่าทำให้เด็กปรับตัวเองให้เป็นเช่นนั้น
     ครูไม่ควรบอกพ่อแม่ว่าเด็กมีบางอย่างผิดปกติ
พ่อแม่ของเด็กพิเศษ มักทราบดีว่าลูกของเขามีปัญหาจึงไม่ต้องการให้ครูมาย้ำในสิ่งที่เขารู้อยู่แล้ว ดังนั้นครูควรพูดในสิ่งที่เป็นความคาดหวังในด้านบวก แต่ต้องไม่ให้เกิดความหวังผิดๆ ครูควรรายงานผู้ปกครองว่าเด็กทำอะไรได้บ้าง และครูต้องช่วยให้ผู้ปกครองมีความหวังและเห็นแนวทางที่จะช่วยให้เด็กพัฒนา 


สิ่งที่ครูควรปฏิบัติ
  -ครูไม่ควรนำเรื่องที่ไม่ดีเกี่ยวกับตัวเด็กไปเล่าให้ผู้ปกครองทราบแต่ควรชี้ให้เห็นถึงพฤติกรรมของเด็กในเรื่องเกี่ยวกับพัฒนาการด้านต่างๆที่เด็กทำได้ ต้องรู้จักเลือกใช้คำพูดที่ทำให้ผู้ปกครองฟังเรื่องราวเกี่ยวกับลูกของตนเองแล้วสบายใจ
   -ครูควรมีการให้ข้อแนะนำในการหาบุคลากรที่เหมาะสมในการประเมินผลหรือการวินิจฉัยให้ผู้ปกครองทราบ
   -ครูต้องมีการสังเกตเด็กอย่างมีระบบคือ ครูต้องสังเกตเด็กเป็นภาพรวมก่อนเพื่อเปรียบเทียบแล้วค่อยสังเกตเด็กที่มีลักษณะเข้าค่ายเป็นรายบุคคล โดยการบันทึกต้องบันทึกทุกอย่างที่เด็กทำโดยไม่มีข้อคิดเห็นส่วนตัวและจดบันทึกพฤติกรรมเด็กเป็นช่วงๆ
โดยการบันทึกการสังเกตมีทั้งหมด 3 รูปแบบ
         1.การนับอย่างง่ายๆ เป็นการนับจำนวนครั้งของการเกิดพฤติกรรมว่ามีกี่ครั้งในแต่ละวันแต่ละชั่วโมง            โดยพฤติกรรมที่นับต้องเป็นพฤติกรรมในด้านลบ
         2.การบันทึกต่อเนื่อง เป็นการบันทึกที่ให้รายละเอียดได้มากโดยจะเขียนทุกอย่างที่เด็กทำในช่วง                เวลาหนึ่งหรือช่วงกิจกรรมหนึ่งตั้งแต่ต้นจนจบโดยที่ไม่มีการเข้าไปแนะนำช่วยเหลือ การบันทึก                แบบต่อเนื่องนี้จะเป็นการบันทึกที่เน้นภาพรวมมากที่สุด
         3.การบันทึกไม่ต่อเนื่อง เป็นการบันทึกสั้นๆเกี่ยวกับพฤติกรรมของเด็กแต่ละคนแค่พฤติกรรมใด                  พฤติกรรมหนึ่งในช่วงเวลาหนึ่งโดยจะบันทึกลงในบัตรเล็กๆ
  - ครูควรเอาใจใส่ถึงระดับความมากน้อยของความบกพร่องมากกว่าชนิดของความบกพร่องของพฤติกรรม พฤติกรรมไหนที่ไม่เหมาะสมแต่พบได้ในเด็กทุกคนถือว่าไม่จัดเป็นสิ่งผิดปกติ
  - ครูต้องมีการตัดสินใจด้วยความระมัดระวัง

                                                      
                                              
บรรยากาศในการเรียนการสอน
 อาจารย์ยกตัวอย่างให้เพื่อนเป็นเด็กพิเศษเพื่อการเรียนการสอนที่สนุกสนาน เรียกความสนใจในการเรียนได้ดี



ทบทวนความรู้ท้ายคาบ
     อาจารย์มีข้อสอบ Post test ทดสอบความรู้ที่ได้รับหลังเรียนมาให้นักศึกษาช่วยกันตอบคำถามภายในคาบ



ก่อนเลิกคาบเรียนอาจารย์แจกเพลงสำหรับเด็กปฐมวัยและมีเพลงมาสอนร้อง1เพลง





 เพลงที่อาจารย์สอนร้องวันนี้ชื่อเพลง  ฝึกกายบริหาร   ผู้แต่ง อ.ศรีนวล  รัตนสุวรรณ      
        

                                                                  ฝึกกายบริหาร
                                                     ฝึกกายบริหารทุกวันร่างกายแข็งแรง
                                                     ฝึกกายบริหารทุกวันร่างกายแข็งแรง
                                                           รูปทรงสมส่วนแคล่วคล่องว่องไว
                                                           รูปทรงสมส่วนแคล่วคล่องว่องไว
                                                          








การนำความรู้ไปประยุกต์ใช้
   -สามารถนำวิธีการในการบันทึกสังเกตพฤติกรรมเด็กพิเศษไปใช้เป็นแนวทางในการบันทึกพฤติกรรมของเด็กเพื่อที่จะให้ได้ข้อมูลจากสิ่งที่บันทึกได้อย่างถูกต้องชัดเจน
   -สามารถนำเทคนิควิธีการใช้คำพูดในการสื่อสารกับผู้ปกครองของเด็กไปปรับใช้เพื่อให้ผู้ปกครองฟังฟังแล้วรู้สึกสบายใจเกิดความหวังในด้านบวกและในขณะเดียวกันก็มีวิธีการในการพูดที่ไม่ให้ผู้ปกครองเกิดความหวังแบบผิดๆด้วย
 -นำเพลงที่ร้องในวันนี้ไปใช้เป็นสื่อในการจัดกิจกรรมกับเด็กตามความเหมาะสมได้
  -สามารถนำเทคนิควิธีการสอนของอาจารย์ในวันนี้นำไปประยุกต์ใช้ในการสอนให้กับเด็กได้ คือมีกิจกรรมศิลปะมาเร้าความสนใจก่อนการเรียนในเนื้อหาเพื่อทำให้ผู้เรียนเกิดความรู้สึกสนใจและสร้างความรู้สึกสงสัยในกิจกรรมและเนื้อหาที่สอนได้ 



การประเมินผล

ประเมินตนเอง
    
  วันนี้รู้สึกแปลกใจที่อาจารย์เตรียมกระดาษมาให้วาดรูปดอกไม้ สงสัยเหมือนกันว่าทำไมต้องวาดรูป แล้วเกี่ยวอะไรกับวิชาที่ได้เรียน ได้ทำกิจกรรมวาดรูปดอกกุหลาบก่อนเรียน รู้สึกผ่อนคลายและชอบมาก รูปดอกไม้ยากมากแต่ได้วาดรูปยากๆรู้สึกว่าท้าทายความสามารถดี วาดภาพออกมาได้ค่อนข้างดีก็รู้สึกภูมิใจในความสามารถตนเองมาก ตั้งใจวาดมากๆเลยถ้ามีเวลาในการวาดมากกว่านี้คิดว่าคงทำได้ดีกว่านี้แน่นอนค่ะ สำหรับเนื้อหาที่ได้เรียนวันนี้ตั้งใจฟังอาจารย์สอนและจดบันทึกคำแนะนำ ความรู้ที่สำคัญลงสมุดตลอดต้นคาบจนสิ้นสุดคาบเรียน วันนี้รู้สึกว่าเป็นคาบเรียนที่เรียนแล้วได้อารมณ์ที่หลากหลายมากจากกิจกรรมและเนื้อหาที่ได้เรียน
   


ประเมินเพื่อน


     
ก่อนเรียนวันนี้เพื่อนๆทุกคนได้วาดรูปดอกกุหลาบ ดูเหมือนจะเป็นงานยากสำหรับสำหรับหลายๆคนเพราะบางคนก็วาดไปบ่นไปทำหน้าเครียดไปด้วย บางคนวาดเสร็จอย่างรวดเร็วและวาดสวยด้วยก็มี ถึงแม้ส่วนมากทุกคนจะบ่นแต่สิ่งที่เหมือนกันคือทุกคนดูสนุกสนานที่ได้ทำงานไปพูดคุยกันไป เนื้อหาที่ได้เรียนในวันนี้เพื่อนๆเกือบทุกคนมีความตั้งใจในการเรียน หลายคนมีส่วนร่วมในการตอบคำถามของอาจารย์ เพื่อนๆสนุกสนานกับการเรียนมากโดยเฉพาะช่วงที่อาจารย์ยกตัวอย่างเพื่อนในห้องให้เป็นเด็กพิเศษแล้วมีรูปมาใส่เรียกเสียงหัวเราะได้อย่างมาก เพื่อนเกือบทุกคนลุ้นมากว่าตนเองจะได้เป็นเด็กพิเศษหรือเปล่า วันนี้รู้สึกว่าเพื่อนๆจะมีความสุขกับการเรียนทุกคนดูไม่เบื่อเลยเพราะได้ทำทั้งกิจกรรมและเรียนในเนื้อหาทฤษฎีไปด้วย


ประเมินอาจารย์


  อาจารย์มีวิธีการสอนที่ดีมากเพราะตอนแรกให้นักศึกษาทำกิจกรรมโดยให้วาดรูปดอกไม้ที่เหมือนจะไม่เกี่ยวกับวิชาที่สอน คิดไม่ถึงเลยว่ากิจกรรมนี้สามารถเชื่อมมาสู่เนื้อหาวิชาที่สอนได้ ซึ่งการสอนแบบนี้ฉันคิดว่าทำให้นักศึกษาจำในเนื้อหาได้ดีเลยทีเดียว เนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องที่สอนวันนี้อาจารย์ก็สอนได้ละเอียดชัดและยังมีการยกตัวอย่างให้เพื่อนในห้องแทนเด็กพิเศษที่มีในลักษณะต่างๆทำให้นักศึกษาเข้าใจและมองเห็นภาพได้ง่ายขึ้น ขณะเดียวกันก็เรียกเสียงหัวเราะ เป็นเทคนิคที่ดึงความสนใจในการเรียนได้ดี เพราะนักศึกษาจะได้ทั้งความรู้และความสนุกในการเรียนไปพร้อมๆกัน






วันศุกร์ที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2558

บันทึกอนุทินครั้งที่2


บันทึกอนุทินครั้งที่2
วันพุธที่ 21 มกราคม 2558
เวลาเรียน  8.30-12.20 น.
เวลาเข้าเรียน 8.30 เวลาเข้าสอน 8.30  เวลาเลิกเรียน 12.20



ความรู้ที่ได้รับ



                วันนี้อาจารย์ให้ทบทวนร้องเพลง "นม" อีกครั้ง หลังจากคาบที่แล้วให้กลับไปฝึกซ้อมมา ครั้งนี้เพื่อนๆเกือบทุกคนร้องเพลงนมด้วยความมั่นใจถึงแม้จะมีบางคนร้องเพี้ยนบ้างเล็กน้อย แต่เมื่อทุกคนร้องไปพร้อม กันฟังแล้วก็ถือว่าร้องได้ดีมากๆเลย
                  หลังจากร้องเพลงนมเสร็จ อาจารย์มีเพลงใหม่มาสอนร้องเพิ่มอีก 4เพลง ให้นักศึกษาฝึกร้องไปพร้อมๆกัน คิดว่าหลายๆคนคงคุ้นเคยกับเพลงเหล่านี้มาก่อน  เพลงที่อาจารย์สอนเพิ่มทั้งหมด4 เพลง  มีเพลงแปรงฟัน เพลงพี่น้องกัน เพลงอาบน้ำ เพลงมาโรงเรียน
ผู้แต่งคือ อ.ศรีนวล   รัตนสุวรรณ  

เพลง อาบน้ำ
อาบน้ำซู่ซ่า ล้างหน้าล้างตา
ฟอกสบู่ถูตัว  ชำระเหงื่อไคล
ราดน้ำให้ทั่ว เสร็จแล้วเช็ดตัว
อย่าให้ขุ่นมัว สุขกายสบายใจ


 เพลง แปรงฟัน
ตื่นเช้าเราแปรงฟัน
กินอาหารแล้วเราแปรงฟัน
ก่อนนอนเราแปรงฟัน
ฟันสะอาดขาวเป็นเงางาม
แปรงฟันที่ถูกวิธี ดูซิต้องแปรงขึ้นลง
แปรงฟันที่ถูกวิธี ดูซิต้องแปรงขึ้นลง



เพลง พี่น้องกัน
บ้านของฉันอยู้ด้วยกันมากหลาย
พ่อ แม่ ปู่ ย่า ลุง ป้า ตา ยาย
มีทั้งน้า อา พี่และน้องมากมาย
ทุกคนสุขสบาย เราเป็นพี่น้องกัน



เพลง มาโรงเรียน
เรามาโรงเรียน เราเขียนเราอ่าน
ครูเล่านิทานสนุกสุขใจ
เราเรียนเราเล่น เราเป็นสุขใจ
ร่าเริงแจ่มใสเมื่อมาโรงเรียน


      เพลงบางเพลงสามารถนำไปใช้ร้องกับเด็กพิเศษเมื่อต้องการให้เด็กทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ซึ่งเพลงถือเป็นสื่อที่ดีที่สามารถสื่อความหมายให้เด็กรับรู้และเข้าใจได้ง่ายโดยที่คุณครูไม่จำเป็นต้องใช้คำสั่งสั่งเด็กให้ทำ  เด็กพิเศษบางคนที่ได้ฟังเพลงสามารถมีพฤติกรรมตามเพลงได้ดี เช่น เพลงอาบน้ำหรือเพลงแปรงฟัน คนที่เป็นคุณครูอนุบาลจำเป็นต้องร้องเพลงเหล่านี้ให้ได้และคุณครูต้องมีความใจเย็น ไม่ควรคาดหวังกับเด็กมากและต้องเชื่ออยู่เสมอว่าเด็กจะสามารถพัฒนาได้ 

                                           
 บรรยากาศการร้องเพลงร่วมกัน

เนื้อหาที่ได้เรียนในวันนี้  อาจารย์เริ่มสอนเข้าสู่เนื้อหาที่เกี่ยวกับรายวิชานี้คือ การจัดประสบการณ์การศึกษาแบบเรียนรวมสำหรับเด็กปฐมวัย


 เนื้อหา           
                    รูปแบบการจัดการศึกษา มี4 รูปแบบ

                           1.การศึกษาปกติทั่วไป (Regular Education) เป็นรูปแบบการศึกษาเดียวที่มีเมื่อ                                          20-30 ปีที่แล้ว สำหรับให้เด็กปกติทั่วไปเรียน
                           2.การศึกษาแบบพิเศษ (Special Education) เป็นการศึกษาที่จัดให้เด็กพิเศษเรียนโดย                                   เฉพาะ 
                           3.การศึกษาแบบเรียนร่วม (Integrated Education หรือ Mainstreaming)
                           4.การศึกษาแบบเรียนรวม (Inclusive Education) 


 การศึกษาแบบเรียนร่วม (Integrated Education หรือ Mainstreaming)
      เป็นการจัดการศึกษาที่จัดให้เด็กพิเศษเข้าไปเรียนในระบบการศึกษาทั่วไป เมื่อเด็กเข้ามาศึกษาแล้วจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงหลักสูตร มีกิจกรรมที่ให้เด็กพิเศษและเด็กทั่วไปได้ทำร่วมกันเด็กปกติและเด็กพิเศษจะเรียนอย่างเท่าเทียมกัน โดยคุณครูจะทำแผนการศึกษาพิเศษ (IEP) เฉพาะสำหรับเด็กพิเศษ ครูปฐมวัยและครูการศึกษาพิเศษร่วมมือกัน เด็กที่เรียนร่วมจะอยู่ในความดูแลของศูนย์การศึกษาพิเศษ


การเรียนร่วมมี2แบบ
      1.การเรียนร่วมบางเวลา (Integration)
              เป็นการจัดให้เด็กพิเศษเรียนในโรงเรียนปกติในบางเวลา เด็กพิเศษที่เรียนร่วมบางเวลานี้จะต้องเป็นเด็กพิเศษที่มีความพิการระดับปานกลางถึงระดับมากซึ่งไม่อาจเรียนร่วมเต็มเวลาได้
กิจกรรมที่มักนำมาจัดให้เด็กพิเศษเช่น กิจกรรมดนตรี ศิลปะ เคลื่อนไหว เป็นต้น

      2.การเรียนร่วมเต็มเวลา(Mainstreaming) 
              เป็นการจัดให้เด็กพิเศษเรียนในโรงเรียนปกติตลอดเวลาที่อยู่ในโรงเรียนเด็กพิเศษจะได้รับการจัดกระบวนการเรียนรู้และบริการนอกห้องเรียนเหมือนเด็กปกติ เด็กพิเศษที่เรียนร่วมเต็มเวลานี้จะต้องเป็นเด็กพิเศษที่มีอาการน้อยเท่านั้น เป้าหมายของการจัดการเรียนร่วมแบบเต็มเวลานี้ก็เพื่อให้เด็กเข้าใจซึ่งกันและกัน ฝึกการใช้ชีวิตร่วมกันกับผู้อื่น ช่วยเหลือกันและกันรู้จักการเอาใจใส่ซึ่งกัน    
                 
หน้าที่สำคัญของคุณครูในการดูแลเด็กเมื่อมีการเรียนร่วมกันของเด็กพิเศษและเด็กปกติ
      ครูต้องบอกเพื่อนร่วมชั้นของเด็กว่าเด็กเป็นอะไร บอกให้เพื่อนในห้องของเด็กเข้าใจเพื่อที่จะได้ช่วยเหลือดูแลกันและกัน การเลือกใช้คำพูดในการบอกเด็กๆก็สำคัญ ครูควรมีลักษณะวิธีการในการพูดกับเด็ก ไม่ควรเลือกใช้คำพูดที่ตรงมากเกินไปหรือคำพูดที่อาจทำร้ายจิตใจเด็กได้



การศึกษาแบบเรียนรวม (Inclusive Education)
     เป็นการจัดการศึกษาสำหรับทุกคน Education for all เป็นการจัดการศึกษาที่จัดให้เด็กพิเศษเข้ามาเรียนรวมกับเด็กปกติตั้งแต่เข้ารับการศึกษา โดยจัดการศึกษาให้กับเด็กทุกคนโดยไม่มีการแบ่งแยกว่าเด็กคนใดเป็นเด็กปกติหรือเด็กพิเศษ และจัดให้มีบริการพิเศษตามความต้องการของแต่ละบุคคล เด็กพิเศษทุกคนสามารถเรียนรู้และพัฒนาได้ถ้าได้รับโอกาสในการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับความต้องการพิเศษของเขา


 ความสำคัญของการจัดการศึกษาแบบเรียนรวมสำหรับเด็กปฐมวัย
   ปฐมวัยเป็นช่วงเวลาสำคัญที่สุดของการเรียนรู้ สอนได้ง่าย
   เป็นการจัดการศึกษาสำหรับเด็กพิเศษที่มีขีดจำกัดน้อยที่สุด


ความจำเป็นที่ต้องพัฒนาเด็กพิเศษในช่วงปฐมวัย?

   เด็กพิเศษควรได้รับการศึกษาแบบเรียนรวมตั้งแต่มีอายุในช่วงปฐมวัยเนื่องจากเด็กในช่วงวัยนี้อยู่ในช่วงที่สมองมีการพัฒนาอย่างสูงสุดคือช่วงอายุ0-7 ปี เซลล์สมองจะมีการพัฒนาอย่างเต็มที่พร้อมที่จะเรียนรู้ เป็นช่วงเวลาที่เด็กมีการพัฒนาทางการรับรู้ ภาษา สังคม อารมณ์และกล้ามเนื้ออย่างรวดเร็ว  ดังนั้นหากในช่วงวัยนี้เด็กได้รับการกระตุ้นและประสบการณ์ที่ดีเด็กก็จะมีการเรียนรู้ที่ดี


ทบทวนความรู้ท้ายคาบ
     หลังจากเรียนในเนื้อหาเสร็จอาจารย์มีข้อสอบ Post test หลังเรียนมาให้นักศึกษาทำเพื่อทบสอบความรู้หลังเรียนว่านักศึกษาแต่ละคนเข้าใจในสิ่งที่ได้เรียนในวันนี้มากน้อยเพียงใด 

     




การนำความรู้ไปประยุกต์ใช้
   
  -การนำเพลงมาใช้กับเด็กพิเศษ  สามารถนำประโยชน์ที่ได้จากการร้องเพลงนำไปใช้ในการร้องเพลงเมื่อต้องการให้เด็กพิเศษมีพฤติกรรมตอบสนองหรือทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งเช่นร้องเพลงอาบน้ำเมื่อต้องการให้เด็กอาบน้ำ ซึ่งการร้องเพลงเป็นวิธีการที่ง่ายเมื่อเด็กได้ฟังแล้วเด็กจะรู้สึกอยากอาบน้ำโดยที่ครูไม่จำเป็นต้องใช้คำสั่ง วิธีการที่ยุ่งยากหรือต้องบังคับเด็กเลย
 -วิธีการในการเลือกใช้คำพูดของครูเมื่อต้องการบอกเพื่อนๆในห้องของเด็กให้รู้เกี่ยวกับตัวเด็กพิเศษ ควรหลีกเลี่ยงการเลือกใช้คำพูดที่ทำร้ายจิตใจเด็กไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อม 
- ได้รู้ความจำเป็นในการพัฒนาเด็กพิเศษในช่วงปฐมวัยว่าเป็นช่วงเวลาที่สำคัญที่สุดของการเรียนรู้ดังนั้นควรที่จะให้ความสำคัญในการส่งเสริมพัฒนาเด็กได้อย่างเหมาะสมและถูกวิธีเพื่อที่จะให้เด็กมีการพัฒนาที่ดีขึ้นได้





การประเมินผล

ประเมินตนเอง
    
  วันนี้มาเรียนก่อนเวลาเลยทำให้มีเวลาเดินไปช่วยอาจารย์ถืออุปกรณ์การสอน  ก่อนการเรียนในเนื้อหาอาจารย์พาร้องเพลงและฉันได้ร้องเพลงเพี้ยนๆไปบ้าง รู้สึกสนุกดีที่ได้ร้องเพลงไปพร้อมๆกันกับเพื่อน วันนี้เป็นวันแรกที่เริ่มเรียนในเนื้อหาของวิชาจริงๆหลังจากเรียนเสร็จแล้วก็ไม่คิดว่าอาจารย์เตรียมข้อสอบPost test มาด้วย รู้สึกตกใจมากกลัวทำข้อสอบไม่ได้แต่พอเห็นข้อสอบแล้วก็คิดว่าตัวเองทำได้บ้างแต่ก็ไม่รู้ว่าจะถูกต้องหรือไม คิดว่าตนเองอาจตอบคำถามได้ไม่ครอบคลุมและไม่ชัดเจน ครั้งหน้าคิดว่าต้องเตรียมตัวในการอ่านเนื้อหาก่อนการเรียนมาให้พร้อมจะได้เข้าใจเนื้อหาในห้องเรียนได้เร็วขึ้นและง่ายในการทำข้อสอบ
   


ประเมินเพื่อน


     วันนี้
บรรยากาศในห้องเรียนดูแปลกใหม่เนื่องจากมีเพื่อนๆภาคนอกเวลามารวมเรียนด้วยทำให้ห้องเรียนดูอบอุ่นมากกว่าเดิม ได้รู้จักเพื่อนต่างกลุ่มลักษณะนิสัยการแสดงออกของเพื่อนๆแต่ละคนซึ่งบางคนก็เป็นผู้ใหญ่เหมือนจะทำงานแล้วตอบคำถามอาจารย์ได้ดี วันนี้การเรียนครึกครื้นยิ่งกว่าเก่ามีเพื่อนในห้องเรียนจำนวนมากเลยทำให้ได้ยินเสียงเพื่อนบางกลุ่มพูดคุยบ้าง แต่ก็มีหลายคนที่ตั้งใจเรียนตั้งแต่ต้นคาบเรียนจนจบคาบเรียน



ประเมินอาจารย์


  วันนี้ก่อนเริ่มการเรียนอาจารย์พานักศึกษาร้องเพลงทำให้นักศึกษาทุคนมีความสุขและสนุกสนานกันถ้วนหน้าแม้บางคนจะร้องถูกบ้างผิดจังหวะบ้าง     ถึงแม้นักศึกษาในห้องเรียนจะเยอะและดูหนาแน่นมากแต่อาจารย์ก็พยายามเดินดูนักศึกษาและถามคำถามนักศึกษาอย่างทั่วถึง เพื่อนบางคนนั่งข้างหลังแต่อาจารย์ก็พยายามหันมองขณะสอน  บางคนที่ทำหน้าเหมือนไม่เข้าใจอาจารย์ก็จะถามว่าเข้าใจไหมถ้าไม่เข้าใจอาจารย์ก็จะอธิบายให้เข้าใจ