ยินดีต้อนรับสู่บล็อก การจัดประสบการณ์การศึกษาแบบเรียนรวมสำหรับเด็กปฐมวัย ของพิชากร แก้วน้อย ค่ะ

วันพฤหัสบดีที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

บันทึกอนุทินครั้งที่5



บันทึกอนุทินครั้งที่5
วันพุธที่ 11 กุมภาพันธ์  2558
เวลาเรียน  8.30-12.20 น.
เวลาเข้าเรียน 8.30 เวลาเข้าสอน 8.30  เวลาเลิกเรียน 12.20



ความรู้ที่ได้รับ

   วันนี้อาจารย์มีกิจกรรมมาให้นักศึกษาทำก่อนเริ่มเรียนในเนื้อหาทฤษฎี โดยอาจารย์มีถุงมือสีขาว พร้อมกับกระดาษA4 สำหรับให้นักศึกษาวาดรูปมือของตนเองโดยมีกติกาว่า นักศึกษาต้องสวมถุงมือเข้าไปที่มือข้างซ้ายของตนเองแล้ววาดรูปมือข้างที่ถูกสวมถุงมือเข้าไปคือมือข้างซ้ายให้เหมือนมือของตนเองมากที่สุด



วาดเสร็จแล้ว ถอดถุงมืออกแล้วลองเทียบดูว่าเหมือนมือข้างซ้ายของฉันหรือเปล่า
      
        หลังจากที่ลองเทียบมือกับภาพวาดที่วาดเสร็จแล้ว ผลปรากฎว่ารูปวาดมือข้างซ้ายของฉันไม่ค่อยเหมือนมือจริงๆของฉันเลย ทั้งๆที่มือของฉันที่ฉันมองเห็นในทุกๆวันกลับกลายเป็นว่าเมื่อนำถุงมือมาใส่แล้ววาดรูปมือของตนเองกลับวาดได้ไม่เหมือนอีกทั้งรายละเอียดต่างๆก็วาดได้ไม่ชัดเจน นั่นคงเป็นเพราะว่าฉันอยู่กับมันทุกๆวันแต่ไม่เคยใส่ใจกับรายละเอียดของมือตนเองอย่างลึกซึ้งเลยสักครั้ง          กิจกรรมนี้เปรียบเทียบได้กับเรื่องของการบันทึกพฤติกรรมของเด็กของคุณครูเมื่ออยู่กับเด็กปฐมวัยเห็นเด็กอยู่ทุกๆวันแต่ไม่เคยบันทึกพฤติกรรมของเด็กอย่างสม่ำเสมอในทุกๆครั้งแต่พอถึงเวลามาบันทึกพฤติกรรมของเด็กทั้งหมดในครั้งเดียวเป็นไปไม่ได้เลยที่คุณครูจะจำและสามารถบันทึกพฤติกรรมของเด็กได้อย่างละเอียดทั้งหมดแต่ถึงแม้จะบันทึกได้ก็คงได้ข้อมูลที่ไม่ตรงกับความจริงและอาจคลาดเคลื่อนได้ ดังนั้นสิ่งที่สำคัญของคุณครูปฐมวัยเมื่ออยู่กับเด็กควรบันทึกพฤติกรรมของเด็กขณะนั้นในทันทีโดยเฉพาะพฤติกรรมที่น่าสนใจและสำคัญ สิ่งที่คนเป็นครูจำเป็นต้องมีติดตัวไว้เสมอคือสมุดบันทึกสำหรับบันทึกพฤติกรรมของเด็ก
ซึ่งหลักในการบันทึก ควรที่จะบันทึกอย่างเป็นประจำ สม่ำเสมอ  และเป็นระบบ 


บรรยากาศทำกิจกรรมวาดรูปมือของเพื่อนๆแต่ละคน




เนื้อหาที่ได้เรียนในวันนี้
   การสอนเด็กพิเศษและเด็กปกติ

ทักษะของครูและทัศนคติ
 การฝึกเพิ่มเติม เนื่องจากครูปฐมวัยเป็นผู้ที่ไม่เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเกี่ยวกับเด็กพิเศษโดยตรงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีการฝึกเพิ่มเติมเช่นมีการอบรมระยะสั้น การสัมมนา เพื่อให้ครูรู้เทคนิคในการสอนและดูแลเด็กพิเศษได้อย่างถูกวิธี

การเข้าใจภาวะปกติ
>>เด็กเหมือนกันมากกว่าที่จะแตกต่างกัน
ครูต้องเรียนรู้ , มีปฎิสัมพันธ์กับเด็กปกติและเด็กพิเศษ
ครูต้องรู้จักเด็กแต่ละคน จำเป็นต้องจำชื่อเด็กแต่ละคนให้ได้
ต้องมองเด็กให้เป็น เด็ก” 

การคัดแยกเด็กที่มีพัฒนาการช้า
การเข้าใจพัฒนาการของเด็ก จะช่วยให้ครูสามารถมองเห็นความแตกต่างของเด็กแต่ละคนได้ง่าย
ครูต้องมองเด็กให้ออกแต่ครูไม่ควรแสดงออกให้เด็กรู้ว่าเป็นอะไร ควรให้ความสำคัญกับเด็กทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน 

ความพร้อมของเด็ก
วุฒิภาวะ เด็กอายุที่เท่ากันจะมีวุฒิภาวะที่ใกล้เคียงกัน
แรงจูงใจ  เด็กแต่ละคนมีแรงจูงใจต่างกัน
โอกาส เมื่ออยู่ในห้องเรียนเด็กแต่ละคนจะมีโอกาสเท่ากันทุกคน

การสอนโดยบังเอิญ
  วิธีการสอนนี้เป็นวิธีที่ใช้ได้ดีกับเด็กพิเศษอย่างมาก โดยการสอนลักษณะนี้เด็กจะเป็นฝ่ายเริ่มเข้ามาหาครู ยิ่งเด็กเข้าหาครูมากเท่าไหร่ ยิ่งมีโอกาสในการสอนมากขึ้นเท่านั้น ดังนั้นครูต้องพร้อมที่จะพบเด็ก
มีความสนใจเด็ก มีความรู้สึกที่ดีต่อเด็ก มีอุปกรณ์และกิจกรรมล่อใจเด็ก มีความตั้งใจจริงในการช่วยให้เด็กแต่ละคนได้เรียนรู้ ครูต้องใช้เวลาในการติดต่อไม่นาน ครูต้องทำให้เป็นเรื่องสนุกสนาน

อุปกรณ์
สื่อที่ดีสำหรับเด็กปฐมวัยในห้องเรียนรวมเป็นสื่อที่ไม่แบ่งแยกเพศเด็กคือสามารถเล่นได้ทั้งชายและหญิง เป็นสื่อที่มีลักษณะง่ายๆ ใช้ประโยชน์ได้หลายอย่างไม่เป็นของเล่นที่ตายตัว 

ตารางประจำวัน
เด็กพิเศษไม่สามารถยอมรับการเปลี่ยนแปลงสิ่งที่ทำอยู่เป็นประจำ ดังนั้น ตารางกิจกรรมในแต่ละวันควรเป็นตารางที่คงที่ไม่เปลี่ยนแปลง กิจกรรมต้องเรียงลำดับเป็นขั้นตอนและเด็กสามารถคาดคะเนกิจกรรมที่จะทำได้ทำให้เด็กจะรู้สึกปลอดภัยและมั่นใจ
การสลับกิจกรรมที่อยู่เงียบๆกับกิจกรรมที่เคลื่อนไหวมากๆ
คำนึงถึงความพอเหมาะของเวลา

ทัศนคติของครู
ความยืดหยุ่น
รู้จักแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เช่น การแก้แผนการสอนให้เหมาะสมกับสถานการณ์
ยอมรับขอบเขตความสามารถของเด็ก
ครูต้องตอบสนองต่อเป้าหมายที่สำคัญที่สุดสำหรับเด็กแต่ละคน

การใช้สหวิทยาการ
ครูต้องใจกว้างต่อคำแนะนำของบุคคลในอาชีพอื่นๆ
สร้างความสัมพันธ์ระหว่างการบำบัดกับกิจกรรมในห้องเรียน ครูควรแฝงกิจกรรมบำบัดเข้าไปสอนเด็กเช่น กิจกรรมร้องเพลง


การเปลี่ยนพฤติกรรมและการเรียนรู้

ครูต้องเชื่อว่าเด็กทุกคนสามารถสอนได้   >> เด็กเรียนไม่ได้เพราะขาดโอกาส

เทคนิคการให้แรงเสริม
แรงเสริมทางสังคมจากผู้ใหญ่
ความสนใจของผู้ใหญ่ที่มีต่อเด็กนั้นสำคัญมาก มีแนวโน้มจะเพิ่มพฤติกรรมที่ดีของเด็กและมักเป็นผลในทันที หากผู้ใหญ่ไม่สนใจพฤติกรรมที่ดีนั้นๆก็จะลดลงและหายไป

วิธีการแสดงออกถึงแรงเสริมจากผู้ใหญ่
ตอบสนองด้วยวาจา
การยืนหรือนั่งใกล้เด็ก
พยักหน้ารับ ยิ้ม ฟัง
สัมผัสทางกาย การกอด สัมผัส ลูบหัว
ให้ความช่วยเหลือและร่วมกิจกรรมกับเด็ก

หลักการให้แรงเสริมในเด็กปฐมวัย
ครูต้องให้แรงเสริมทันทีที่เด็กมีพฤติกรรมอันพึงประสงค์ เสริมแรงเฉพาะสิ่งที่จำเป็นเท่านั้น
ครูต้องละเว้นความสนใจทันทีและทุกครั้งที่เด็กแสดงพฤติกรรมที่ไม่พึ่งประสงค์
ครูควรให้ความสนใจเด็กนานเท่าที่เด็กมีพฤติกรรมที่พึ่งประสงค์

การแนะนำหรือบอกบท (prompting)
เป็นการย่อยงาน บอกเป็นขั้นตอนเป็นระบบอย่างละเอียดถี่ถ้วน  มีการลำดับความยากง่ายของงาน โดยการบอกบทจะค่อยๆน้อยลงตามลำดับ
การลำดับงานเป็นการเสริมแรงเพื่อให้เด็กค่อยๆก้าวไปสู่ความสำเร็จ


ขั้นตอนการให้แรงเสริม
สังเกตและกำหนดจุดมุ่งหมาย
วิเคราะห์งาน กำหนดจุดประสงค์ย่อยๆในงานแต่ละขั้น
สอนจากง่ายไปยาก
ให้แรงเสริมทันทีเมื่อเด็กทำได้ หรือเมื่อเด็กพยายามอย่างเหมาะสม
ลดการบอกบท เมื่อเด็กเรียนรู้ที่จะก้าวไปขั้นต่อไป
ให้แรงเสริมเฉพาะพฤติกรรมที่ใกล้เคียงกับเป้าหมายที่สุด
ทีละขั้น ไม่เร่งรัด ยิ่งขั้นเล็กเท่าไหร่ ยิ่งดีเท่านั้น
ไม่ดุหรือตี

การกำหนดเวลา
จำนวนและความถี่ของแรงเสริมที่ให้กับพฤติกรรมการเรียนรู้ของเด็กต้องมีความเหมาะสม ควรให้แรงเสริมในเรื่องที่สำคัญตามเป้าหมายที่อยากให้เิกดขึ้นที่จำเป็นจริงๆ

ความต่อเนื่อง
พฤติกรรมทุกๆอย่างในชีวิตประจำวันต่อเนื่องกันระหว่างพฤติกรรมย่อยๆ หลายๆอย่างรวมกัน
เช่น การเข้าห้องน้ำ การนอนพักผ่อน การหยิบและเก็บของ การกลับบ้าน
สอนแบบก้าวไปข้างหน้า หรือย้อนมาจากข้างหลัง

การลดหรือหยุดแรงเสริม
ครูจะงดแรงเสริมกับเด็กที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม
ทำอย่างอื่นและไม่สนใจเด็ก
เอาอุปกรณ์หรือขอเล่นออกไปจากเด็ก

เอาเด็กออกจากการเล่น วิธีนี้นิยมใช้อย่างมาก


ทบทวนความรู้ท้ายคาบ
     อาจารย์มีข้อสอบ Post test ทดสอบความรู้ที่ได้รับหลังเรียนให้นักศึกษาช่วยกันตอบคำถามภายในคาบเรียน


กิจกรรมร้องเพลงท้ายคาบเรียน
    ก่อนเลิกคาบเรียนอาจารย์ให้นักศึกษาทบทวนร้องเพลงกายบริหารหลังจากคาบที่แล้วได้มอบหมายให้นักศึกษากลับไปฝึกร้องให้ดีขึ้น หลังจากร้องเพลงกายบริหารเสร็จอาจารย์มีเพลงใหม่มาสอนร้องทั้งหมด4เพลง คือเพลงผลไม้ เพลงกินผักกัน เพลงดอกไม้ และเพลงจำจี้ดอกไม้ ผู้แต่งคือ ศรีนวล  รัตนสุวรรณ มีเนื้อร้องดังนี้


เพลงผลไม้
ส้มโอ  แตงโม  แตงไทย
ลิ้นจี่  ลำไย  องุ่น  พุทรา
เงาะ  ฝรั่ง  มังคุด
กล้วย  ละมุด  น้อยหน่า
ขนุน  มะม่วง  นานาพันธุ์

เพลงกินผักกัน
กินผักกันเถอะเรา
บวบ  ถั่วฝักยาว  ผักกาดขาว  แตงกวา
คะน้า  กวางตุ้ง  ผักบุ้ง  โหระพา
มะเขือเทศสีดา  ฟักทอง  กะหล่ำปลี

เพลงดอกไม้
ดอกไม้ต่างพันธุ์  สวยงามสดสี
เหลือง  แดง  ม่วงมี  แสด  ขาว  ชมพู

เพลงจ้ำจี้ดอกไม้
จ้ำจี้ดอกไม้  ดาวเรือง  หงอนไก่
จำปี  จำปา  มะลิ  พิกุล
กุหลาบ  ชบา  บานชื่น  กระดังงา
เข็ม  แก้ว  ลัดดา  เฟื่องฟ้า  ราตรี



การนำความรู้ไปประยุกต์ใช้
   1.สามารถนำวิธีการในการบันทึกสังเกตพฤติกรรมเด็กพิเศษไปใช้เป็นแนวทางในการบันทึกพฤติกรรมของเด็กเพื่อที่จะให้ได้ข้อมูลจากสิ่งที่บันทึกได้อย่างถูกต้องได้ดังนี้ 
      -ในการบันทึกพฤติกรรมเด็กควรบันทึกในทันทีและทุกๆครั้งอย่างเป็นระบบและสม่ำเสมอ เครื่องมือที่ครูควรพกติดตัวไว้คือสมุดบันทึกเพราะเป็นเครื่องมือที่จะช่วยให้คนเป็นครูได้รู้รายละเอียดของเด็กคนนั้นมากขึ้น
     -ในการบันทึกพฤติกรรมเด็กควรบันทึกพฤติกรรมอย่างละเอียดจากสิ่งที่เห็นจริงๆ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่          ตรงเป็นไปได้ควรบันทึกพฤติกรรมที่เห็น ณ ขณะนั้นในเวลานั้นทันที สำคัญอย่างยิ่งคือไม่ควรใส่              ความรู้สึกส่วนตัวของตนเองลงไปเพราะจะทำให้ได้ข้อมูลที่ไม่ตรงกับความเป็นจริงได้
 2.ได้รู้บทบาทหน้าที่ที่สำคัญของครูปฐมวัยที่ดีควรจะทำเช่นไร เช่นการนำวิธีในการให้แรงเสริมกับเด็กพิเศษในแบบต่างๆเช่น การสัมผัส การกอดแน่นๆอย่างจริงใจ นำไปใช้กับเด็กพิเศษเพื่อให้เด็กลดพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์และช่วยให้เด็กมีพฤติกรรมที่ปรารถนาอย่างดีขึ้นได้   และคนเป็นครูต้องมีความยืดหยุ่นเมื่อมีปัญหาต้องรู้จักแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ รู้จักปรับเปลี่ยนวิธีการสอนได้ในแต่ละสถานการณ์อย่างเหมาะสม  วิธีการในการสร้างความสนิทสนมเพื่อทำให้เด็กพิเศษกล้าที่จะเปิดใจรับคนเป็นครูให้ได้ และหลักในการจัดกิจกรรมประจำวันได้รู้ขั้นตอนในการลำดับกิจกรรมตามความเหมาะสมซึ่งสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้




การประเมินผล

ประเมินตนเอง
    
  วันนี้มาเรียนก่อนเวลาเรียนหลายนาทีทำให้มีเวลาเดินไปช่วยอาจารย์ยกอุปกรณ์สำหรับจัดการเรียนการสอนในวันนี้ ก่อนเริ่มเรียนก็รุ้สึกเพลียๆและง่วงนอนมากแต่เมื่อถึงเวลาเรียนแล้วก่อนเรียนอาจารย์มีกิจกรรมวาดรูปนิ้วมือมาให้ทำก็รู้สึกกระตือรือร้นที่จะวาดรูปทันที ได้ทำกิจกรรมวาดรูปของตนเองซึ่งให้วาดรูปมือของตนเองที่ดูเหมือนจะง่ายแต่ยากเพราะไม่มีแบบให้ดูทำให้จินตนาการมือของตนเองออกมาเป็นรูปภาพได้ไม่ค่อยเหมือนมือจริงๆของตนเองเท่าไหรแต่การที่ฉันวาดไม่เหมือนมือจริงก็ทำให้ฉันเข้าใจถึงสิ่งที่อาจารย์สอนมากขึ้น สำหรับเนื้อหาที่ได้เรียนในวันนี้ฉันตั้งใจฟังอาจารย์สอนตลอดทั้งคาบเรียนถึงแม้จะมีบางช่วงที่ไม่มีค่อยมีสมาธิแอบคุยกับเพื่อนบ้างเล็กน้อยแต่ก็ดึงสติของตนเองกลับมาฟังอาจารย์สอนและจดเนื้อหาที่สำคัญที่อาจารย์ยกตัวอย่างลงสมุดเกือบทุกคำพูด วันนี้ได้ฟังเรื่องที่อาจารย์พูดเกี่ยวกับพี่นักศึกษาฝึกสอนคนหนึ่งที่มีโอกาสได้คลุกคลีกับเด็กพิเศษฟังแล้วจากที่รู้สึกว่าตนเองไม่เก่งคิดว่าตนเองสอนเด็กไม่ได้แน่ๆได้ฟังอาจารย์พูดเกี่ยวกับรุ่นพี่ก็รู้สึกมีกำลังใจในการเรียนขึ้นมาเลยคะ คิดว่ารุ่นพี่ทำได้เราก็อยากทำให้ได้เหมือนรุ่นพี่บ้าง
   


ประเมินเพื่อน


    วันนี้มีเพื่อนภาคนอกเวลาเรียนมาด้วยและวันนี้เพื่อนๆก็มาเรียนสายเป็นส่วนมาก 
ก่อนเรียนวันนี้เพื่อนๆทุกคนได้วาดรูปมือของตนเองซึ่งเป็นงานยากของเพื่อนๆหลายคนแต่ทุกคนก็มีความสุขที่ได้วาดรูป เนื้อหาที่ได้เรียนในวันนี้เพื่อนๆเกือบทุกคนมีความตั้งใจในการเรียน มีส่วนร่วมในการตอบคำถามและเรียนอย่างสนุกสนาน แต่เนื่องจากมีเพื่อนภาคนอกเวลาเรียนมาเรียนร่วมด้วยทำให้ในห้องมีนักศึกษาเป็นจำนวนมากทำให้มีบางคนไม่มีสมาธิในการฟังอาจารย์สอนก็หันไปคุยกับเพื่อนข้างๆโดยเฉพาะเพื่อนๆที่นั่งแถวด้านหลังมีแอบคุยขณะที่อาจารย์สอน ซึ่งอาจารย์ก็พยายามเตือนอยู่หลายครั้งแต่ก็ยังแอบคุยกันอยู่ แต่โดยรวมแล้ววันนี้ยิ่งมีเพื่อนๆมาเรียนร่วมกันหลายคนก็ทำให้บรรยากาศในการเรียนดูครึกครื้นและสนุกสนานมากขึ้น


ประเมินอาจารย์


  วันนี้ก็เป็นอีกสัปดาห์หนึ่งที่อาจารย์มีการจัดกิจกรรมการสอนที่แปลกใหม่โดยการให้นักศึกษาวาดภาพก่อนการเรียนการสอน ทำให้นึกไม่ถึงจริงๆว่าอาจารย์จะสอนเกี่ยวกับเรื่องอะไร แต่หลังจากที่ทำกิจกรรมวาดรูปมือเสร็จอาจารย์ก็อธิบายกิจกรรมที่ทำให้สอดคล้องกับเรื่องที่เรียนได้อย่างเข้าใจมากจริงๆ ฉันคิดว่ากิจกรรมนี้เป็นกิจกรรมที่ดีมากกิจกรรมหนึ่งซึ่งแฝงแง่คิดดีๆและความรู้ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่เรียนได้อย่างดี กิจกรรมนี้จะช่วยให้เข้าใจเนื้อหาที่เรียนได้ง่ายยิ่งขึ้น สำหรับเนื้อหาที่อาจารย์สอนในวันนี้ค่อนข้างเยอะแต่อาจารย์ก็มีความตั้งใจในการสอนในเนื้อหาอย่างละเอียดและยกตัวอย่างเนื้อหาที่เรียนกับประสบการณ์ใกล้ตัวทำให้นักศึกษาเข้าใจได้ง่าย บางคนไม่เข้าใจอาจารย์ก็พยายามที่จะทวนถามซ้ำๆอยู่เสมอว่าเข้าใจสิ่งที่เรียนหรือไม่ถ้าไม่เข้าใจอาจารย์ก็อธิบายให้เข้าใจอีกครั้ง  






ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น